การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ


ความหมายการสอนแบบบูรณาการ
            (สิริพัชร์  เจษฏาวิโรจน์. 2546 : 16) สำหรับการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Management) หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามความสนใจ ความสามารถ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาสาระของศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม สามรถนำความรู้ ทักษะ และเจตคติไปสร้างงาน แก้ปัญหาและใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง
           หลักสูตรบูรณาการ (Integrated Curriculum) หมายถึง การรวมเนื้อหาสาระของวิชาต่างๆ ในหลักสูตรที่มีลักษณะเหมือนกัน หรือคล้ายกันและทักษะในการเรียนรู้ ให้เชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นสิ่งเดียวกัน โดยการตั้งเป็นหัวข้อเรื่องขึ้นใหม่ และมีหัวข้อย่อยตามเนื้อหาสาระ อีกทั้งสอดคล้องกับบริบทการเรียนรู้ของสังคมอย่างสมดุล มีความหมายแก่ผู้เรียน และให้โอกาสผู้เรียนในการปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเองให้มากที่สุด และการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้วิธีสอนหลายวิธี จัดกิจกรรมต่างๆในการสอนเนื้อหาสาระที่เชื่อมโยงกัน ตลอดจนมีการฝึกทักษะที่หลากหลาย 

 นักวิชาการศึกษาหลายท่าน ได้กล่าวถึงความหมายของการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการไว้ดังตัวอย่างต่อไปนี้
Lardizabal and Others. (1970: 141)  กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การสอนโดยใช้กิจกรรมการเรียนที่สอดคล้องกับจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง ยังผลให้เกิดการพัฒนาในด้านบุคลิกภาพในทุก ๆ ด้าน ผู้เรียนสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อทุกสถานการณ์ การแก้ปัญหานี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความรู้พื้นฐาน การสอนแบบบูรณาการจะให้ความสำคัญกับครูและนักเรียนเท่าเทียมกัน ทำกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันแบบประชาธิปไตย
กระทรวงศึกษาธิการ  (2546:19)  อ้างถึงใน  พระเทพเวที,2531:24) ได้ให้ความหมายไว้ว่า  การบูรณาการ  หมายถึงการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์สาขาต่างๆ  ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน  เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่มีความหมาย  มีความหลากหลายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน      
กาญจนา คุณารักษ์.( 2522:21)  กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง กระบวนการหรือการปฏิบัติเกี่ยวกับการเรียนรู้ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบทางจิตพิสัย และพุทธิพิสัย หรือกระบวนการหรือการปฏิบัติในอันที่จะรวบรวมความคิด มโนภาพ ความรู้ เจตคติ ทักษะ และประสบการณ์ในการแก้ปัญหา เพื่อให้ชีวิตมีความสมดุล
          สุมานิน รุ่งเรืองธรรม.(2522:32) กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง การสอนเพื่อจัดประสบการณ์ให้แก่ผู้เรียน เพื่อการเรียนรู้ที่มีความหมาย ให้เข้าใจลักษณะความเป็นไปอันสำคัญของสังคม เพื่อดัดแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียนให้เข้ากับสภาพชีวิตได้ดียิ่งขึ้นย่างต่อไปนี้
          ผกา สัตยธรรม.( 2523:45-54) กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง ลักษณะการสอนที่นำเอาวิชาต่างๆ เข้ามาผสมผสานกัน โดยใช้วิชาใดวิชาหนึ่งเป็นแกนหลักและนำเอาวิชาต่าง ๆ มาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันตามความเหมาะสม
          นที ศิริมัย.(2529:63-65) กล่าวว่า การเรียนการสอนแบบบูรณาการ หมายถึง เทคนิคการสอนโดยเน้นความสนใจความสามารถ และความต้องการของผู้เรียน ด้วยการผสมผสานเนื้อหาวิชาในแง่มุมต่าง ๆ อย่างสัมพันธ์กัน เป็นการสร้างความคิดรวบยอดให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน และยังสามารถนำความคิดรวบยอดไปสร้างเป็นหลักการเพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ด้วย

           โดยสรุป การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามความสนใจ ความสามารถ และความต้องการ โดยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียน ทั้งทางด้านสติปัญญา(Cognitive) ทักษะ (Skill) และจิตใจ (Affective) สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน

การสอนแบบบูรณาการ มีกรอบแนวความคิด ดังนี้
     1. ศาสตร์ทุกศาสตร์ไม่อาจแยกจากกันโดยเด็ดขาดได้ เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของคนที่ต้องดำรงอยู่อย่างประสานกลมกลืนเป็นองค์รวม การจัดให้เด็กได้ฝึกทักษะและเรียนรู้เนื้อหาต่าง ๆ อย่างเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน จะทำให้การเรียนรู้มีความหมายสอดคล้องกับชีวิตจริง
    2. การจัดการเรียนรู้อย่างบูรณาการ จะช่วยลดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาวิชา ลดเวลาการเรียนรู้ของผู้เรียน เป็นการแบ่งเบาภาระในการสอนของครู
    3. การเรียนแบบบูรณการ ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสได้ใช้ความคิด ประสบการณ์ความสามารถและทักษะต่างๆ อย่างหลากหลาย ก่อให้เกิดการเรียนรู้ทักษะกระบวนการและเนื้อหาสาระไปพร้อมๆ กัน


ลักษณะของการบูรณาการ มีลักษณะโดยสรุป  ดังนี้
      (สิริพัชร์ เจษฎาวิโรจน์.  2546: 25)
      1. การบูรณาการเชิงเนื้อหาสาระ เป็นการผสมผสานเชื่อมโยงเนื้อหาสาระ ในลักษณะการหลอมรวมกันโดยการตั้งเป็นหน่วย (Unit) หรือหัวเรื่อง (Theme)
      2. การบูรณาการเชิงวิธีการ  เป็นการผสมผสานวิธีการสอนแบบต่าง ๆ เข้าในการสอน  โดยการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายวิธี  การสนทนา  การอภิปราย  การใช้คำถาม  การบรรยาย  การค้นคว้าและการทำงานกลุ่ม  การไปศึกษานอกห้องเรียน  และการนำเสนอข้อมูลเป็นต้น
      3. การบูรณาการความรู้กับกระบวนการเรียนรู้ โดยออกแบบการเรียนรู้ให้มีทั้งการให้ความรู้และกระบวนการไปพร้อม ๆ กัน เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการแก้ปัญหา และ กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด  เป็นต้น
      4. การบูรณาการความรู้  ความคิดกับคุณธรรม  โดยเน้นทั้งพุทธิพิสัยและจิตพิสัยเป็นการเรียนที่สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมไปพร้อม ๆ กัน  เพื่อที่นักเรียนจะได้เป็น “ผู้มีความรู้ คู่คุณธรรม ”
      5. การบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติ เน้นการปฏิบัติจริง ควบคู่ไปพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
      6. การบูรณาการความรู้ในโรงเรียนกับชีวิตจริงของนักเรียน พยายามให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เห็นคุณค่าและความหมายในสิ่งที่เรียน 

แนวคิดสำคัญการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ
        Lardizabal and others. (1970:142-143) ได้กล่าวถึงการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ต้องยึดหลักสำคัญที่ว่าแกนกลางของประสบการณ์อยู่ที่ความต้องการของผู้เรียนและประสบการณ์ในการเรียนรู้ จัดเป็นหน่วยการเรียน
      หน่วยการเรียนอาจแบ่งแยกออกเป็นประเภทใหญ่ได้ 3 ประเภท
1. หน่วยเนื้อ หา (Subject – Matter Unit) เป็นการเน้นหน่วยเนื้อ หาหรือหัวข้อเรื่องต่างๆหลักการหรือสิ่งแวดล้อม
2. หน่วยความสนใจ (Center of Interest Unit) จัดเป็นหน่วยขึ้นโดยพื้นฐานความสนใจและความต้องการ หรือจุดประสงค์เด่นๆของผู้เรียน
3. หน่วยเสริมสร้างประสบการณ์ (Integrative Experience Unit) เป็นการรวบรวมประสบการณ์ หรือจุดเน้นอยู่ที่ผลการเรียนรู้และสามารถนำไปสู่การปรับพฤติกรรม การปรับตัวของผู้เรียน
       Unesco- unep. (1994: 51) กำหนดลักษณะของการบูรณาการการเรียนการสอนไว้ 2 แบบคือ
1. แบบสหวิทยาการ (Interdisciplinary) ได้แก่ การสร้างเรื่อง (Theme) ขึ้น มาแล้วนำความรู้จากวิชาต่างๆมาโยงสัมพันธ์กับ หัวเรื่องนั้นซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า สหวิทยาการแบบหัวข้อ (Themetic Interdisciplinary Studies) หรือการบูรณาการที่เน้นการนำไปใช้เป็นหลัก (Application – First Approach)
2. แบบพหุวิทยาการ (Multidisciplinary) ได้แก่การนำเรื่องที่ต้องการจะจัดให้เกิดการบูรณาการไปสอดแทรก (Infusion) ไว้ในวิชาต่างๆซึ่งบางครั้ง เราก็อาจเรียกวิธีการบูรณาการ แบบนี้ว่า การบูรณาการที่เน้นเนื้อ หารายวิชาเป็นหลัก (Discipline – First Approach)
       สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ. (2546 : 184-191) ให้แนวคิดการแบ่งประเภทการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ คือ
    แบบที่ 1. จำแนกตามจำนวนผู้สอน มี 3 ลักษณะ คือ
1.1    การบูรณาการแบบผู้สอนคนเดียว ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ต่างๆกับหัวเรื่องที่สอดคล้องกันกับชีวิตจริงหรือสาระที่กำหนดขึ้นมาเชื่อมโยงสาระและกระบวนการเรียนรู้ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะและกระบวนการเรียนรู้ไปแสวงหาความรู้ความจริงจากหัวข้อเรื่องที่กำหนด
1.2    การบูรณาการแบบคู่ขนาน มีผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกันจัดการเรียนการสอนโดยอาจยึดหัวเข้อเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วบูรณาการเชื่อมโยงแบบคู่ขนานกันไปภายใต้เรื่องเดียวกัน
1.3    การบูรณาการแบบสอนเป็นทีม ผู้สอนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ร่วมกันคิดหัวข้อเรื่องหรือโครงการมาโดยใช้เวลาเรียนต่อเนื่องกัน อาจรวมจำนวนชั่วโมงของสาระการเรียนรู้ต่างๆแบบมีเป้าหมายเดียวกัน
     แบบที่ 2.  จำแนกตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่
2.1 การบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงแนวคิด ทักษะและความคิดรวบยอดของสาระการเรียนรู้สาระใดสาระหนึ่งนั่นเอง
2.2 การบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นลักษณะการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่นำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่องเดียวกัน
     แบบที่ 3.  จำแนกตามประเภทของการบูรณาการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
3.1 การบูรณาการแบบสหวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ การนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงร้อยรัดให้เป็นเนื้อเดียวกันเพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวเรื่องเดียวกัน
3.2 การบูรณาการแบบพหุวิทยาการ เป็นลักษณะการบูรณาการที่ผู้สอนนำเอาเรื่องหรือสาระการเรียนรู้ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ไปสอดแทรกในสาระการเรียนรู้หรือวิชาที่ตัวเองรับผิดชอบสอน

การสร้างบทเรียนแบบบูรณาการ
การสอนตามรูปแบบที่  1  (Infusion  Instruction)  และรูปแบบที่  2  (Parallel  Instruction)  มี  2  วิธีคือ
วิธีที่หนึ่ง  เลือกหัวเรื่อง (Theme)  ก่อนแล้วดำเนินการพัฒนาหัวเรื่องให้สมบูรณ์  มีกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจกรรมให้ชัดเจน  กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่จะใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ  ตามลำดับ
 วิธีที่สอง  เลือกจุดประสงค์รายวิชาจาก  2  รายวิชาขึ้นไปก่อน  แล้วนำมาสร้างเป็นหัวเรื่อง  (Theme)  ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่ใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ  ตามลำดับ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 วิธีที่หนึ่ง  เลือกหัวเรื่องก่อน
ขั้นที่  1  เลือกหัวเรื่อง  (Theme)  โดยวิธีต่อไปนี้
       1.       ระดมสมองของครูและนักเรียน
       2.       เน้นที่การสอดคล้องกับชีวิตจริง
       3.       ศึกษาเอกสารต่างๆ
       4.       ทำหัวเรื่องให้แคบลงโดยคำนึงถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงความสะดวกในการเชื่อมโยงระหว่างวิชาความรู้  และความสนใจของนักเรียน
 ขั้นที่  2  พัฒนาหัวเรื่อง  (Theme)  ดังนี้
       1.       เขียนวัตถุประสงค์โดยกำหนดความรู้และความสามารถที่ต้องการ  จะให้เกิดแก่ผู้เรียน  เขียนวัตถุประสงค์ในลักษณะที่จะช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างวิชา  กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนเพื่อนำไปสู่กิจกรรม
       2.       กำหนดเวลาในการสอนให้เหมาะสมกับกำหนดเวลาต่างๆ  ตามปฏิทินของโรงเรียน  เช่น  จำสอนเมื่อใด  ใช้เวลาเท่าไร  ยืดหยุ่นได้หรือไม่  ต้องใช้เวลาออกสำรวจหรือทำกิจกรรมนอกห้องเรียนหรือไม่  ฯลฯ
       3.       จองเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการกระทำกิจกรรม
 ขั้นที่  3  ระบุทรัพยากรที่ต้องการ  ควรคำนึงถึงทรัพยากรที่หาได้ง่าย  แล้วติดต่อแหล่งทรัพยากร
 ขั้นที่  4  พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน  ดังนี้
      1.       พัฒนากิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงกับเนื้อหาวิชาอื่น
      2.       ตั้งจุดมุ่งหมายของกิจกรรมให้ชัดเจน
      3.       เลือกวิธีที่ครูวิชาต่างๆ  จะทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวิชา
      4.       เลือกวิธีการสอนที่จะใช้
      5.       สร้างเอกสารแนะนำการปฏิบัติกิจกรรม
      6.       สิ่งที่ครูควรจะต้องเตรียมล่วงหน้าอาจประกอบด้วยสิงต่อไปนี้
-          ใบความรู้
-          ใบงาน
-          แบบบันทึก (ซึ่งอาจเป็นแบบที่ครูออกแบบให้เลย  หรืออาจเป็นแบบบันทึกที่นักเรียนจะต้องช่วยกันออกแบบก็ได้)
-          สื่อและอุปกรณ์อื่นๆ
-          แบบประเมิน
-          พยายามปฏิบัติตามแผนที่วางไว้  แต่อาจปรับกิจกรรมตามความสนใจของนักเรียน
-          ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตลอดหน่วยการเรียน
-          ร่วมมือกับครูคนอื่น  มีการพบกันเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความก้าวหน้า
ขั้นที่  6  ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน   โดยครูควรกระทำตลอดเวลาเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงงานครูอาจให้นักเรียนประเมินผลตนเองก็ได้ครูควรใช้วิธีประเมินผลที่หลากหลายและให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง  เช่น  สังเกตวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนตรวจผลงาน  ทอสอบ ประเมินจากการนำเสนอรายงานหรือผลงานของนักเรียน  ประเมินจากการนิทรรศการของนักเรียน  การสัมภาษณ์นักเรียน ฯลฯ
ขั้นที่  7  ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน  โดยครูสำรวจจุดเด่น-จุดด้อย  ของกิจกรรม  แล้วบันทึกไว้เพื่อนำไปปรับปรุง
ขั้นที่  8  แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วยกันเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากิจกรรมในครั้งต่อๆไป

วิธีที่สอง  เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้ก่อน
ขั้นที่  1  เลือกจุดประสงค์การเรียนรู้จาก  2  รายวิชาขึ้นไปที่จะนำมาบูรณาการกันโดยจะต้องพิจารณาว่าจุดประสงค์นั้น ๆ  เกี่ยวข้องกันหรือไม่  และเกี่ยวข้องกันอย่างไร  ถ้าหากมีความสัมพันธ์เกี่ยวกันหรือไปด้วยกันได้ จึงนำมาบูรณาการกัน
ขั้นที่  2  นำจุดประสงค์ดังกล่าวในขั้นตอนที่  1  มาสร้างเป็นหัวเรื่อง (Theme)  ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้ขั้นที่  3  ระบุทรัพยากรที่ต้องการ
ขั้นที่  4  พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นที่  5  ดำเนินการตามกิจกรรมการเรียนการสอนที่เตรียมไว้
ขั้นที่  6  ประเมินความก้าวหน้าของนักเรียน
ขั้นที่  7  ประเมินกิจกรรมการเรียนการสอน
ขั้นที่  8  แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างครูด้วยกัน
        สำหรับการสอนบูรณาการตามรูปแบบที่  3  (Multidisciplinary  Instruction)  และรูปแบบที่  4  (Transdisciplinary Instruction)  นั้น  เน้นที่งานหรือโครงการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหามากกว่า  1  สาขาวิชาขึ้นไปที่จะให้นักเรียนปฏิบัติหรือศึกษา ดังนั้นวิธีการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการในขั้นที่  4  “การพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน”  จึงเป็นการกำหนดงานหรือโครงการ  (Project)  ที่จะให้นักเรียนทำ  ทั้งนี้เพราะการสร้างงานหรือโครงการเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่งในการสร้างบทเรียนแบบบูรณาการเพราะสามารถเกี่ยวข้องกับเนื้อหาหลายๆ  สาขาวิชาได้ งานหรือโครงการที่นักเรียนจะต้องทำมี 4  ประเภทคือ
1.  ข้อสรุป  หมายถึงข้อสรุปทั่วไปที่สร้างขึ้นจากการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
2.  กระบวนการ  หมายถึงวิธีดำเนินการโดยละเอียดในการแก้ปัญหา  หรือในการทำงาน


รูปแบบการบูรณาการหลักสูตร
         การบูรณาการหลักสูตรสามารถทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกันไป และเหมาะสมกับระดับชั้นต่างๆ กันไป Fogarty ได้เสนอรูปแบบการบูรณาการหลักสูตร ที่น่าสนใจไว้ 10 แบบ ดังนี้คือ
        1. Cellular หรือ Fragmented เป็นรูปแบบการบูรณาการ เนื้อหาสาระภายในวิชาเดียวกัน โดยสัมพันธ์ต่อเนื่องกันในลักษณะของการเรียงลำดับหัวข้อตามความเหมาะสม เช่น เรียงจากเรื่องที่ง่ายไปหายาก เรื่องที่มีความซับซ้อนน้อยไปหาเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้นหรือเรียงจากเรื่องที่เป็นพื้นฐานไปหาเรื่องที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกันและกว้างขวางขึ้น ในการสอนจะสอนตามหัวข้อที่กำหนด เมื่อจบหัวข้อหนึ่งก็ขึ้นหัวข้อใหม่ต่อไป
        2. Connected เป็นรูปแบบการบูรณาการเนื้อหาสาระภายในเนื้อหาของแต่ละวิชาเช่นเดียวกัน แต่ในการสอนมีการเชื่อมโยงหัวข้อหรือ ความคิดรวบยอดถึงกัน เชื่อมโยงความคิดต่างๆ ให้สัมพันธ์กัน ทำให้เห็นความต่อเนื่องหรือเกี่ยวข้องกันของเนื้อหาที่เรียนในหัวข้อต่าง ๆ เช่น หัวข้อร่างกายของฉัน และอาหารที่มีประโยชน์ในการสอน 2 หัวข้อนี้สามารถเชื่อมโยงให้เห็นว่าร่างกายต้องการอาหารเพราะอะไร และอาหารมีความจำเป็นต่อคนอย่างไร เป็นต้น
        3. Nested เป็นรูปแบบการบูรณาการเนื้อหาสาระภายในวิชาเดียวกันอีกรูปแบบหนึ่งแต่เพิ่มความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมากขึ้น คือ การบูรณาการทักษะหลาย ๆ ทักษะเข้าด้วยกันในการรวมเป็นเป้าหมายหลักของหัวข้อ เช่น หัวข้ออาหารที่มีประโยชน์ครูนำทักษะต่าง ๆ มาบูรณาการสอนหัวข้อนี้ได้หลายทักษะ ได้แก่ ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการคาดเดา ทักษะการตัดสินใจ ทักษะการคิด ทักษะทางสังคม ทักษะการจัดข้อมูล โดยตั้งประเด็นปัญหาหรือคำถามขึ้นแล้วให้นักเรียนนำทักษะเหล่านี้ไปฝึกคิด อภิปราย และหาคำตอบ
         4. Sequenced รูปแบบนี้เริ่มเป็นการบูรณาการระหว่าง 2 วิชา รูปแบบบี้สามารถทำได้ง่าย โดยการนำหน่วยการเรียนรู้ที่ใช้สอนกันอยู่มาพิจารณาความคิดรวบยอด ทักษะหรือเจตคติของหน่วยใดคล้ายกันบ้างให้นำมาเชื่อมโยงบูรณาการกันซึ่งทั้ง 2 วิชายังสอนแยกกันอยู่ แต่สอนในเวลาเดียวกัน ดังนั้นต้องมีการจัดลำดับการสอนหัวข้อเรื่องหรือหน่วยการเรียนต่าง ๆ ใหม่ เพื่อจะได้สอนในช่วงเวลาเดียวกันได้ อาจมีการปรับกิจกรรมการเรียนการสอนให้ชัดเจนขึ้นแล้ววางแผนว่าจะสอนในช่วงเวลาใดเพื่อสิ่งที่นำมาบูรณาการกันนั้นจะได้ประสานกันอย่างกลมกลืน
          5. Shared เป็นการบูรณาการระหว่าง 2 วิชา โดยเนื้อหาสาระที่สอนนั้นมีสาระความรู้ หรือความคิดรวบยอดที่คาบเกี่ยวกันอยู่ส่วนหนึ่ง ในการบูรณาการรูปแบบนี้ ต้องมีการวางแผนร่วมกัน สอนร่วมกันในส่วนที่คาบเกี่ยวกัน โดยอาจจัดเป็นหัวข้อร่วมกัน หรือทำโครงงานร่วมกัน และอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ได้คาบเกี่ยวกันนั้นครูก็สอนแยกกันไปตามปกติ
          6. Webbed เป็นรูปแบบการบูรณาการระหว่างวิชาหลายวิชา มีลักษณะเป็นการกำหนดหัวข้อเรื่อง (theme) ขึ้นมา แล้วเชื่อมโยงไปสู่วิชาต่างๆ ว่ามีประเด็นหรือเนื้อหาสาระใดที่เห็นว่ามีความสัมพันธ์กัน คล้ายคลึงกัน หรือต่อเนื่องกัน ที่จะสามารถนำมาจัดรวมเป็นหัวข้อเรื่องเดียวกัน เพื่อที่จะได้สอนรวมกันไปอย่างกลมกลืนได้ ในการบูรณาการรูปแบบนี้จะบูรณาการกี่วิชาก็ได้ ขึ้นอยู่กับประเด็นเนื้อหาสาระ ความคิดรวบยอด หรือทักษะส่วนเนื้อหาสาระใดของวิชาใดไม่สามารถนำมาบูรณาการกันได้ก็ให้สอนตามปกติ
           7. Threaded เป็นรูปแบบการบูรณาการที่ใช้ทักษะใดทักษะหนึ่งที่ต้องการฝึกเป็นหลัก เช่น ทักษะการคาดเดทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการวิเคราะห์ แล้วกำหนดเนื้อหาตลอดจนจัดการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา ให้สัมพันธ์กับทักษะที่กำหนด ซึ่งจะเป็นกี่วิชาก็ได้
           8. Integrated เป็นการจัดหลักสูตรบูรณาการแบบสหวิทยาการ ที่นำเอาความรู้ ความคิดรวบยอด หรือทักษะที่เหลื่อมล้ำกันอยู่ของวิชาต่าง ๆ เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์สังคมศึกษา ภาษาไทย ศิลปศึกษา มาวางแผนจัดสอนร่วมกันเป็นทีม การบูรณาการแบบนี้เป็นการช่วยสร้างความเข้าใจ และความซาบซึ้งระหว่างวิชาต่าง ๆ ให้กับผู้เรียน
           9. Immersed เป็นรูปแบบบูรณาการที่นักเรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระในวิชาต่างๆ และมีความสนใจในเนื้อหาวิชาด้านใดด้านหนึ่ง แล้วนักเรียนใช้ความรู้เนื้อหานั้นในการศึกษาค้นคว้า ซึ่งเปรียบเหมือนการใช้แว่นขยายประสบการณ์ของตนเองสร้างประสบการณ์ให้กับตนเอง โดยในการหาประสบการณ์นั้นนักเรียนอาจจะต้องบูรณาการข้อมูลที่เรียนรู้ทั้งหมดมาใช้
          10. Networked เป็นรูปแบบบูรณาการที่กลั่นกรองความรู้ที่มิใช่จากการศึกษาค้นคว้าของนักเรียนเพียงอย่างเดียว แต่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากครู ผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งการใช้เครือข่ายการเรียนรู้ เรียนรู้ทั้งภายในสาชาวิชาและนอกสาขาวิชา แล้วเชื่อมโยงความรู้เข้ารวมด้วยกันทั้งหมดเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิดขยายออกไปเป็นแนวทางใหม่ 
           ลักษณะและรูปแบบของการบูรณาการหลักสูตรดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีวิธีการบูรณาการเนื้อหา วิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้หลายวิธี มีทั้งแบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน บูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ และบูรณาการจากความคิดของผู้เรียนเอง การเลือกใช้รูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหาสาระ ความคิดรวบยอด เจตคติ และทักษะที่ต้องการเน้น ซึ่งผู้สร้างหลักสูตรบูรณาการจะต้องรู้เนื้อหาสาระของหลักสูตรแล้วพิจารณาเลือกรูปแบบใช้ให้เหมาะสม

ตัวอย่างแผนการสอนโดยใช้วิธีการจัดการเรียรู้แบบบูรณาการ
                                                      
                                                      แผนการจัดการเรียนรู้
                                       รายวิชา ส33101  สังคมศึกษา 5
สาระที่ 2 หน้าที่พลเมือง วัฒนธรรม และการดำเนินชีวิตในสังคม                          ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
หน่วยการเรียนรู้ที่ 3 เรื่ององค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน          เวลา 2 ชั่วโมง
1. สาระสำคัญ
            สิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญ ดังนั้นจึงทำให้เกิดองค์กรระหว่างประเทศมีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น องค์การสหประชาชาติ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์การนิรโทษกรรมสากล กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ โดยองค์กรเหล่านี้ล้วนมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอภาคกัน
2. ตัวชี้วัดช่วงชั้น
             ประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง และเสนอแนวทางพัฒนา (ส 2.1 ม. 4–6/4)
3. จุดประสงค์การเรียนรู้
            1. บอกบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลกที่มีผลต่อประเทศไทยและประเทศต่างๆได้ (K)
            2. เห็นความสำคัญขององค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลกที่มีผลต่อประเทศไทย (A)
            3. แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทขององค์ระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีโลกที่มีผลต่อประเทศไทยได้ (P)
4. สาระการเรียนรู้
            องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชน
1. คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
2. องค์การนิรโทษกรรมสากล ILO
3. องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
4. มูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง
5. มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ECPAT 
5. คุณลักษณะอันพึงประสงค์
          1.ซื่อสัตย์สุจริต
          2. มีวินัย
          3. ใฝ่เรียนรู้
          4. มุ่งมั่นในการทำงาน
6. ชิ้นงาน/ภาระงาน
          1.นักเรียนสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
          2.นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มศึกษากรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
          3. นักเรียนทำแผ่นพับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆและบทบาทองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือ
7. แนวทางบูรณาการ
               ภาษาไทย         ð      ฟัง พูด อ่าน เขียน เกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน
               การงานอาชีพฯ  ð     สืบค้นข้อมูลข่าวที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน  การออกแบบแผ่นพับ
               ศิลปะ             ð     ทำนักเรียนทำแผ่นพับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆและบทบาท
                                            องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนที่ให้ความช่วยเหลือ
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ขั้นที่ 1 นำเข้าสู่บทเรียน ( ขั้นรับรู้)
          1. ครูแจ้งตัวชี้วัดช่วงชั้นและจุดประสงค์การเรียนรู้ให้นักเรียนทราบ
2.กิจกรรม Brain Gym  เพลง  “ กรรไกร ไข่ ผ้าไหม ”   เพื่อเพิ่มพลังสมอง
3.ครูให้นักเรียนดู VTR  แนะนำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
4. ครูสนทนาเกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ที่เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วนำเข้าสู่บทเรียน
ขั้นที่ 2 กิจกรรมการเรียนรู้ ( ขั้นเชื่อมโยง)
5. ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มศึกษารวบรวมข้อมูลขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนดังต่อไปนี้
            6 ครูให้นักเรียนอ่านเนื้อหาเรื่อง องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนตามหัวข้อที่ได้รับผิดชอบ
กิจกรรมที่ 1    องค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในด้านสิทธิมนุษยชน
               กลุ่มที่ 1  คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ 
   กลุ่มที่ 2  องค์กรนิรโทษกรรมสากล
               กลุ่มที่ 3  องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ  
   กลุ่มที่ 4  มูลนิธิความร่วมมือเพื่อต้านการค้าหญิง
               กลุ่มที่ 5  มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศของเด็ก
            7. ครูให้แต่ละกลุ่มวิเคราะห์ สรุป และบันทึกผล จากนั้นรายงานให้เพื่อน ๆ ฟังหน้าชั้นเรียน แล้วเพื่อน ๆ แสดงความคิดเห็น
กิจกรรมที่ 2  เรื่อง  กรณีศึกษาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆและบทบาทขององค์การระหว่างที่ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหา
            8. ในขณะปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน ให้ครูสังเกตพฤติกรรมในการทำงานและการนำเสนอผลงานของนักเรียนตามแบบประเมินพฤติกรรมในการทำงานเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
ขั้นที่ 3 ฝึกฝนผู้เรียน
            9. ครูให้นักเรียนให้นักเรียนแบ่งกลุ่มออกเป็น 5 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มศึกษากรณีศึกษาเพื่อเชื่อมโยง
 เกี่ยวกับองค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน
          กลุ่มที่  1 และกลุ่มที่ 2 เรื่องเปลือยชีวิตชาวโรฮิงญากับชีวิตที่มากกว่าคำว่า “ โหดร้าย”
            กลุ่มที่  3 และกลุ่มที่ เรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธ์ชาวยิว
            กลุ่มที่  5 เรื่อง “ตวล สเลง” ย้อนรอยคุกที่ไม่มีทางออก ในกรุงพนมเปญ
 ขั้นที่ 4 ขั้นประยุกต์ใช้
            10. ครูให้นักเรียนทำแผ่นพับเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอาเซียนหรือประเทศต่างๆทั่วโลกที่นักเรียนสนใจ วิเคราะห์องค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนและให้ความช่วยเหลือกรณีดังกล่าวเพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ครูและนักเรียนโดยนำไปวางไว้ในห้องสมุดโรงเรียนไทรน้อย
ขั้นที่ 5 สรุป
            11. ครูและนักเรียนร่วมกันสรุปความรู้เรื่ององค์กรระหว่างประเทศที่มีบทบาทด้านสิทธิมนุษยชน        
              12. ครูให้นักเรียนทำแบบทดสอบหลังเรียนและช่วยกันเฉลยคำตอบ
 กิจกรรมเสนอแนะ
          ครูให้นักเรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมเรื่องราวเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยูทูปแล้วให้นักเรียนแสดงบทบาทสมมุติ

สรุป
     การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง กระบวนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนตามความสนใจ ความสามารถ และความต้องการ โดยการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงพฤติกรรมของผู้เรียน ทั้งทางด้านสติปัญญา(Cognitive) ทักษะ (Skill) และจิตใจ (Affective) สามารถนำความรู้และทักษะที่ได้ไปแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน
     การสร้างบทเรียนแบบบูรณาการ
          การสอนตามรูปแบบที่  1  (Infusion  Instruction)  และรูปแบบที่  2  (Parallel  Instruction)  มี  2  วิธีคือ            วิธีที่หนึ่ง  เลือกหัวเรื่อง (Theme)  ก่อนแล้วดำเนินการพัฒนาหัวเรื่องให้สมบูรณ์  มีกำหนดวัตถุประสงค์ของกิจกรรมให้ชัดเจน  กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่จะใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ  ตามลำดับ
วิธีที่สอง  เลือกจุดประสงค์รายวิชาจาก  2  รายวิชาขึ้นไปก่อน  แล้วนำมาสร้างเป็นหัวเรื่อง  (Theme)  ที่ร่วมกันระหว่างจุดประสงค์ที่เลือกไว้กำหนดแหล่งข้อมูลหรือทรัพยากรที่ใช้ในการค้นคว้าและเรียนรู้และพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนและอื่นๆ
ลักษณะและรูปแบบของการบูรณาการหลักสูตรดังกล่าว จะเห็นได้ว่า มีวิธีการบูรณาการเนื้อหา วิชาต่างๆ เข้าด้วยกันได้หลายวิธี มีทั้งแบบบูรณาการภายในกลุ่มสาระการเรียนรู้เดียวกัน บูรณาการระหว่างกลุ่มสาระการเรียนรู้ และบูรณาการจากความคิดของผู้เรียนเอง การเลือกใช้รูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของเนื้อหาสาระ ความคิดรวบยอด เจตคติ และทักษะที่ต้องการเน้น ซึ่งผู้สร้างหลักสูตรบูรณาการจะต้องรู้เนื้อหาสาระของหลักสูตรแล้วพิจารณาเลือกรูปแบบใช้ให้เหมาะสม

อ้างอิง
วารุณี  คงมั่นกลาง. https://www.gotoknow.org/posts/400257 [online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561.
วัชรา เชื้อรามัญ. (2557). https://www.slideshare.net/ssuser537f18/ss-36646298 [online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561.
http://www.kroobannok.com/33356 [online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561.
http://www.sai.ac.th/index.php?lay=show&ac=article&Id=540014379&Ntype=11 [online]. เข้าถึงเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561.

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นวัตกรรมและสื่อการเรียนการสอนคณิตศาสตร์

ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)